วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยุคของคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ยุคของคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ยุคสมัยของคอมพิวเตอร์แบ่งออกเป็น 5 ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1
UNIVAC I คือเครื่องคอมพิวเตอร์เอนกประสงค์ที่ใช้ในเชิงธุรกิจ เป็นเครื่องหมายของการเริ่มต้นยุคที่ 1 เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคนี้มีขนาดใหญ่ ใช้หลอดสุญญากาศ (Vacuum tubes) ซึ่งก่อให้เกิดความร้อนสูงมาก จึงต้องใช้เครื่องปรับอากาศ การบำรุงรักษา และพื้นที่กว้างมาก สื่อบันทึกข้อมูลได้แก่ เทปแม่เหล็ก IBM 650 เป็นเครื่องที่สามารถทำงานได้ทั้งด้านธุรกิจและวิทยาศาสตร์ หน่วยความจำเป็น ดรัมแม่เหล็ก (magnetic drum) และใช้บัตรเจาะรู การสั่งงานใช้ภาษาเครื่อง (machine language) ซึ่งเป็นภาษาตัวเลข ในระบบตัวเลขฐานสอง (binary digit)
1.หลอดสูญญากาศ

2.วงแหวนแม่เหล็ก

ยุคที่ 2
ค.ศ. 1959 ทรานซิสเตอร์ และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น Solid state, semiconductor วงจรทรานซิสเตอร์ มีขนาดเล็กลง ความร้อนลดลง ราคาถูกลง และต้องการพลังงานน้อยกว่าการใช้หลอดสุญญากาศ คอมพิวเตอร์ในยุคที่สอง จึงมีขนาดเล็กลง แต่ความเร็วสูงขึ้น และน่าเชื่อถือมากกว่าคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 1 คอมพิวเตอร์ในยุคนี้ใช้ วงแหวนแม่เหล็ก (Magnetic cores) เป็นหน่วยความจำ สื่อบันทึกข้อมูลหลักในยุคนี้ใช้จานแม่เหล็ก (magnetic disk packs) หน่วยความจำสำรองอื่น ๆ ยังคงเป็น เทปแม่เหล็ก และบัตรเจาะรู ในยุคนี้ มีการพัฒนาภาษาระดับต่ำ (low-level language) หรือภาษาอิงเครื่อง เป็นภาษารหัส ที่ง่ายต่อการเขียนมากกว่าภาษาเครื่อง เช่น ภาษาแอสเซมบลี (assembly) โดยมีโปรแกรมแปลภาษาคือ แอสเซมเบลอร์ (assembler) ทำหน้าที่แปลให้เป็นภาษาเครื่อง

1.เครื่องเจาะบัตร

2.เครืองอ่านเทป

ยุคที่ 3
ค.ศ. 1964 IBM system/360 คือจุดเริ่มต้นของยุคที่ 3 วงจรไอซี (IC: integrated circuits) เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้แทนวงจรทรานซิสเตอร์ ลักษณะของ IC เป็นแผ่นซิลิกอนขนาดเล็กหรือเรียกว่า ชิป (chip) เป็นวงจรไมโครอิเล็กทรอนิกส์ มีขนาดเล็กกว่า น่าเชื่อถือมากกว่า ความเร็วสูงขึ้น และ ขนาดของคอมพิวเตอร์เล็กลง
เริ่มใช้วิธีการแบบ Time-sharing และการสื่อสารข้อมูล ความสามารถในการประมวลผลหลาย ๆ โปรแกรมพร้อม ๆ กันเรียกว่า multi-programming ระบบปฏิบัติการ (Operating system) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อควบคุมการประมวลผลคอมพิวเตอร์ ภาษาระดับสูงสำหรับเขียนโปรแกรม เช่น FORTRAN, COBOL เป็นต้น โปรแกรมสำเร็จรูปแพร่หลายมากขึ้น เครื่องขนาด มินิคอมพิวเตอร์เครื่องแรก คือ PDP-8 ของ the Digital Equipment Corporation ในปี ค.ศ. 1969

1.เครื่องอ่านเทปแม่เหล็ก

2.เทปแม่เหล็ก

ยุคที่ 4
ค.ศ. 1970 เทคโนโลยีหลักที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ วงจร LSI (large-scale integration) เป็นวงจรรวมของวงจรตรรกะ (logic) และ หน่วยความจำ (memory) ของคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์หลายพันวงจรไว้บนแผงซิลิกอนซึ่งเป็นชิปขนาดเล็ก และถูกนำมาใช้เป็นชิปหน่วยความจำแทนวงแหวนแม่เหล็ก (ซึ่งใช้ในยุคที่ 2 และยุคที่ 3) ค.ศ. 1971 ไมโครโพรเซสเซอร์ (Microprocessor) ตัวแรกที่เกิดขึ้นคือ Intel 4004 เป็นวงจรรวมหน่วยประมวลผลหลักไว้บนชิปเพียงตัวเดียว ต่อมา ค.ศ. 1974 จึงมีการพัฒนา Intel 8080 เพื่อใช้ในระบบไมโครคอมพิวเตอร์เครื่องแรกคือ Altair 8800 ต่อมา ค.ศ. 1978 Steve Jobs และ Steve Wozniak จึงพัฒนา Apple II ออกมาจำหน่าย และปี ค.ศ. 1981 IBM พัฒนาไมโครคอมพิวเตอร์ออกจำหน่ายเช่นกัน กลางปี ค.ศ. 1980 พบว่า ไมโครคอมพิวเตอร์จำนวนหลายล้านเครื่องถูกใช้ในบ้าน โรงเรียน และในธุรกิจ
ในยุคนี้อุปกรณ์ที่ใช้ป้อนข้อมูลโดยตรง เช่น Keyboard (แป้นพิมพ์) electronic mouse (เมาส์) light pen (ปากกาแสง) touch screen (จอสัมผัส) data tablet (แผ่นป้อนข้อมูล) เป็นต้น อุปกรณ์แสดงผลลัพธ์ เช่น จอภาพ แสดงข้อภาพ กราฟิก และเสียง เป็นอุปกรณ์พื้นฐานในเวลาต่อมา ภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม คล้ายกับภาษามนุษย์มากขึ้น เกิดระบบจัดการฐานข้อมูล และภาษาในยุคที่ 4 หรือภาษาธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ทำให้โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมง่ายขึ้นเท่านั้น ยังช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องบอกวิธีการให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เพียงแต่บอกว่า งานอะไร ที่พวกเขาต้องการเท่านั้น โปรแกรมสำเร็จรูปในยุคนี้ ได้แก่ electronic spreadsheet (ตารางทำงาน) , word processing (ประมวลผลคำ) เช่น ค.ศ. 1979 โปรแกรมวิสิแคล (VisiCalc electronic spreadsheet program) และ โปรแกรมเวิร์ดสตาร์ (WordStar word processing) ค.ศ. 1982 โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล DBASE II และ โปรแกรมตารางทำงาน Lotus1-2-3 เป็นต้น

ยุคที่ 5
เริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 คอมพิวเตอร์ในยุคนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากยุคที่ 4 เป็นคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ สามารถคิด มองเห็น ฟัง และพูดคุยได้ โครงสร้างคอมพิวเตอร์จะแตกต่างไปจากเดิม การประมวลผลข้อมูลเป็นแบบขนาน (Parallel) แทนแบบอนุกรม (Serially) การสร้างระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ คือหนึ่งในเป้าหมายหลักทางด้านวิทยาการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) สิ่งที่ปรากฏในยุคนี้คือ optical computer ใช้ photonic หรือ optoelectronic เป็นวงจรมากกว่าวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ประมวลผลข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ ปฏิบัติการด้วยความเร็วใกล้กับความไวแสง ในอนาคตจะมีขนาดเล็กมาก เร็ว และ biocomputer มีอำนาจมากขึ้น จะเติบโตจากองค์ประกอบสำคัญคือการใช้เซลจากสิ่งมีชีวิตเป็นวงจร
ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ใช้ง่ายและสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ง่าย ผู้ใช้สามารถสนทนากับคอมพิวเตอร์ได้ด้วยภาษามนุษย์ โปรแกรมสำเร็จรูปจะทำงานร่วมกันเป็นโปรแกรมอเนกประสงค์ที่ใช้งานง่าย ทำหน้าที่ต่างกันเพื่อผู้ใช้ที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิค เทคโนโลยีระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีทางการสื่อสารเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบสำนักงานอัตโนมัติ เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic mail) ไปรษณีย์เสียง (voice mail) และ การประชุมผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (teleconferencing)
ระบบสารสนเทศบนพื้นฐานของเทคโนโลยีการสื่อสารขั้นสูง จะรวมกับการถ่ายโอนและการประมวลผลข้อมูล ภาพ และ เสียง รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีใยแก้วนำแสง (Fiber optics technology) ในการให้บริการเครือข่ายดิจิตอล
โรงงานปฏิบัติงานอัตโนมัติ ใช้ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น หุ่นยนต์ (Robotics) เปลี่ยนไปจากโรงงานธรรมดา โรงงานอัตโนมัตินี้ เป็นผลมาจากการผลักดันเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของคอมพิวเตอร์ในการผลิต การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีการผลิตอื่น ๆ เพื่อให้กระบวนการผลิตทั้งหมดเป็นไปโดยอัตโนมัติ
ธุรกิจต่าง ๆ ใช้คอมพิวเตอร์และเครือข่าย ในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น ค้าส่ง ค้าปลีก คลังสินค้า และโรงงาน ผู้จัดการจะอาศัยระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหารมากขึ้น ผู้ใช้จะพึ่งพาระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert system) ของระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการทำงานตามหน้าที่
ทุก ๆ วัน การใช้คอมพิวเตอร์มีอยู่ทั่วไป เช่น ระบบการโอนเงินทางธนาคาร ระบบชำระค่าสินค้า ระบบการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในด้านวิศวกรรม เครื่องมือในการพัฒนาระบบสารสนเทศอัตโนมัติ ระบบการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในการศึกษา Telecommuting เป็นระบบการสื่อสารเพื่อการทำงานภายในบ้าน และ ระบบ videotex สำหรับหาซื้อสินค้าในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic shopping) การธนาคาร และบริการสารสนเทศถึงบ้าน จะมีความตื่นเต้นเร้าใจมากขึ้น สังคมจะให้ความเชื่อถือ ความมั่นใจในคอมพิวเตอร์มากขึ้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

ปวัติบิดาของคอมพิวเตอร์ประเทศไทย

ประวัติบิดาของคอมพิวเตอร์ประเทศไทย

ในหลวงกับคอมพิวเตอร์
     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ลึกซึ้งในการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในด้านส่วนพระองค์นั้น ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย
          ความเป็นมาที่พระองค์ท่านทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์นั้น ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ตกลงใจซื้อคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส อันเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ ม.ล.อัศนี เลือกเครื่องนี้ เพราะสามารถเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้และใช้งานไม่ยาก ทั้งยังอาจเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสำหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วนพระองค์ทางด้านดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลงและเนื้อร้อง พระองค์ท่านทรงศึกษาวิธีการใช้เครื่องและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยพระองค์เอง
         สำหรับเรื่องอักขระคอมพิวเตอร์หรือฟอนต์ (Font) นั้นเป็นที่สนพระราชหฤทัย ก็เพราะหลังจากที่พระองค์ท่านได้ทรงศึกษา และใช้คอมพิวเตอร์ทำโน้ต คือเมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ และทรงทดลองใช้โปรแกรม "Fontastic" เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ สิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยหลายแบบ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังตั้งพระทัยในการประดิษฐ์อักษรภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้น คือภาษาสันสกฤต และทรงดำริจะประดิษฐ์อักษรภาษาญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มประดิษฐ์ รับสั่งว่าต้องใช้เวลามาก ต่อมาก็ได้ทรงหันมาศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัวเทวนาครีบนจอภาพ หรือที่พระองค์ท่าน ทรงเรียกว่า "ภาษาแขก" ซึ่งจัดทำได้ยากกว่าตัวอักษรภาษาไทย เพราะตัวอักษรเทวนาครีนั้นรูปแบบไม่คงที่ กล่าวคือ ถ้านำส่วนหนึ่งของอักษรนำมาต่อรวมกับอีกส่วนหนึ่งของอักษร จะเกิดอักษรใหม่ขึ้น และโปรแกรมที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้นมีตัว phonetic symbols การสร้างตัวอักษรเทวนาครีนั้น ทรงเริ่มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เอง จากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งจะต้องตรวจสอบตัวอักษรที่ทรงสร้างขึ้น พระองค์นำโปรแกรมออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ มีคำถามว่า เหตุใดพระองค์ท่านจึงทรงสนพระราชหฤทัยในตัวอักษรเทวนาครีหรือภาษาแขก เรื่องนี้มีผู้อธิบายไว้ว่า ในหลวงที่รักของพวกเรานั้น ทรงศึกษาข้อธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง การที่ทรงศึกษาตัวอักษรแขก ก็เพื่อเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจด้านอักษรศาสตร์ และความเข้าใจในหัวข้อธรรมะนั่นเอง เรื่องนี้นับว่าพระองค์มีวิจารณญาณที่ลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะคำสอนและข้อธรรมะในพุทธศาสนานั้น เดิมทีก็เกิดและเผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย บรรดาธรรมะที่ลึกซึ้งและยากแก่ความเข้าใจ ก็อาจจะถูกตีความผันแปรบิดเบือนไปได้ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าลึกลงไปถึงภาษาแขก จึงน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะชัดเจนกระจ่างมากขึ้น
          ต่อมาได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC Compatible และทรงสนพระทัยศึกษาในการพัฒนา Software ต่างๆ และได้สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งสนพระทัยในเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบนี้มากทีเดียว บางครั้งทรงเปิดเครื่องออกดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง หรือทรงปรับปรุง Software ใหม่ขึ้นใช้ ทรงแก้ซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
          จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ งานทรงพระอักษรส่วนพระองค์ และทรงเก็บงานเหล่านี้เป็นเรื่องๆ มาปะติดปะต่อกัน จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นต้น ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์ "ปรุง" อวยพรปีใหม่ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เดิมพระองค์ได้พระราชทานผ่านเครื่องเทเล็กซ์ นอกจากนี้พระองค์ทรงสนพระทัยคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากขณะเสด็จพระราชดำเนินชมงานนิทรรศการต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระองค์สนพระทัยซักถามอาจารย์และนักศึกษาที่ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นเวลานาน

พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
         ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนานั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ,๔๗๒,๙๐๐ บาท ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถาต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เดิม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาเสร็จแล้ว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ทรงเห็นว่าโครงการนี้ควรได้รวบรวมเอาชุดอรรถกถาและฎีกาเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเนื้อหาทางด้านพุทธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์นี้ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูล
          ในฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก การครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบไปในอนาคตกาล เพราะโครงการพระราชดำรินี้ เป็นส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญ ที่ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งรวบรวมเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับเป็นการใช้วิทยาการอันก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์
         สำหรับโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามพระราชดำรินี้ ได้พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ ในชื่อ BUDSIR IV โดยพัฒนาต่อเนื่องจาก โปรแกรม BUDSIR (อ่านออกเสียงว่า บุดเซอร์) มาจากคำว่า Buddhist Scriptures Information Retrieval สำหรับประวัติของ BUDSIR นั้น BUDSIR I สามารถค้นหาคำทุกคำ ศัพท์ทุกศัพท์ ทุกวลี ทุกพุทธวจนะ ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก จำนวน ๔๕ เล่ม หรือข้อมูลมากกว่า ๒๔.๓ ล้านตัวอักษร ที่ได้รับการบันทึกในคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ BUDSIR II พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมัน สำหรับการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ BUDSIR III ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกในเดือนเมษายน ๒๕๓๓ เพื่องานสืบค้นที่มีความซับซ้อน สำหรับ BUDSIR IV นี้ ได้รวบรวมพระไตรปิฎกและอรรถกถา/ฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ทุกเล่มที่ใช้ศึกษาหลักสูตรเปรียญธรรม นอกจากนี้ยังรวม version ที่เป็นอักษรโรมันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีขนาดข้อมูลรวม ๑๑๕ เล่ม หรือประมาณ ๔๕๐ ล้านตัวอักษร นับเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม โดยบันทึกพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลงบนแผ่น CD-ROM แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๗ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อผู้ที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๘ และในปัจจุบันสำนักคอมพิวเตอร์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาโปรแกรมพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ ฉบับภาษาไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ศึกษา อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานโปรแกรมนี้ให้แพร่หลายยิ่ง
 

เทคโนโลยีแตกต่างจากสารสนเทศอย่างไร เมื่อนำมารวมกันมีความหมายว่าอย่างไร

เทคโนโลยีแตกต่างจากสารสนเทศอย่างไร
   
     เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ การศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ และหาทางนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ เทคโนโลยีจึงเป็นค้าที่มีความหมายกว้างไกล เป็นคำที่เราได้พบเห็นและได้ยินอยู่ตลอดมา

     สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนตั้งแต่เกิดมาได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เรียนรู้สภาพสังคมความเป็นอยู่ กฎเกณฑ์และวิชาการ ลองจินตนาการดูว่าภายในสมองของเราเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เราคงตอบไม่ได้ แต่สามารถเรียกเอาข้อมูลมาใช้ได้ ข้อมูลที่เก็บไว้ในสมองเป็นสิ่งที่สะสมกันมาเป็นเวลานาน ความรอบรู้ของแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับการเรียกใช้ข้อมูลนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ชัดความรู้เกิดจากข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทุกวันนี้มีข้อมูลรอบตัวเรามาก ข้อมูลเหล่านี้มาจากสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การสื่อสารระหว่างบุคคล จึงมีผู้กล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคของสารสนเทศ

เมื่อนำสองคำมารวมกัน
    
     เมื่อรวมคำว่า เทคโนโลยี กับ สารสนเทศ เข้าด้วยกัน จึงหมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้จัดการสารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การรวบรวมการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน การสื่อสารข้อมูล ฯลฯ เทคโนโลยีสารสนเทศจะรวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดระบบการให้บริการ การใช้ และการดูแลข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความหมายที่กว้างขวางมาก

ปวัติบิดาของคอมพิวเตอร์ต่างประเทศและประเทศไทย

ประวัตบิดาคอมพิวเอตร์ของต่างประเทศ
     ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดของคอมพิวเตอร์ มีอยู่หลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ ชาร์ล แบบเบจ ( Charles Babbage) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษได้ประดิษฐ์เครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องหาผลต่าง ( Difference Engine) เพื่อใช้คำนวณและพิมพ์ ค่าทางตรีโกณมิติและฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ แบบเบจได้พยายามสร้าง เครื่องคำนวณอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า Analytical Engine โดยมีแนวคิดให้แบ่งการทำงานของเครื่องออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนเก็บข้อมูล (Store unit), ส่วนควบคุม (Control unit) และส่วนคำนวณ (Arithmetic unit) ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการนำมาใช้เป็นต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน จึงยกย่องแบบเบจ ว่าเป็นบิดาแห่งเครื่องคอมพิวเตอร์
     นอกจากนี้ ยังมี เลดี้ เอดา ออคุสตา เลฟเลค ( Lady Ada Augusta Lovelace ) เป็นนักคณิตศาสตร์ที่เข้าใจผลงานของแบบเบจ ได้เขียนวิธีการใช้เครื่องคำนวณของแบบเบจเพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เล่มหนึ่ง ต่อมา เลดี้ เอดา ออคุสตา เลฟเลค จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก

ประวัติของ ชาร์ลส์ แบบเบจ
     เกิดปี ค.ศ. 1791 (พ.ศ. 2334) ที่อังกฤษ ในครอบครัวของนายธนาคาร แบบเบจเติบโตมาในยุคที่อังกฤษเป็นมหาอำนาจ และกำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ทุนการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ อย่างเต็มที่
แบบเบจศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ ทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่คณะคณิตศาสตร์ (Mathematical Laboratory)

     ในทางคณิตศาสตร์ แบบเบจเน้นศึกษาด้านแคลคูลัสเป็นพิเศษ. ปี ค.ศ. 1816 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Fellow ของ Royal Society. ปี ค.ศ. 1820 เขาตั้งชมรมด้านดาราศาสตร์ขึ้น พร้อม ๆ กับเริ่มทำงานวิจัยสำคัญของเขาในยุคต้น ที่ทำให้เขาโด่งดังมากคือ Difference Engine (ใช้ Newton's method of successive differences). ในปี ค.ศ. 1828 แบบเบจได้รับแต่งตั้งให้เป็น the Lucasian Chair of Mathematics at Cambridge (เหมือนกับ เซอร์ ไอแซก นิวตัน และ สตีเฟ่น ฮอว์คิง) ต่อมา แบบเบจขยายงานมาศึกษาเครื่องวิเคราะห์ (Analytical Engine) เพื่อสร้างเป็น เครื่องจักรที่สามารถรองรับการคำนวณทุกชนิด (ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์) แต่ก็เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น เพราะเขาไม่สามารถสร้างออกมาในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ เนื่องจากมีคนไม่เห็นด้วยมากมาย เพราะความคิดของเขาทันสมัยเกินกว่าเทคโนโลยีในยุคนั้น จนทุก ๆ คนคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ จึงโดนตัดงบวิจัยในปี ค.ศ. 1832. แต่แบบเบจก็ฝืนทำต่อแบบไม่มีงบประมาณ จนทำไม่ไหว จนต้องปิดโครงการนี้ไป ในปี ค.ศ. 1842.

     พอปี ค.ศ. 1856, แบบเบจก็เริ่มมีฐานะขึ้นมาจากงานอื่นๆ เพราะนอกจากเป็นนักคณิตศาสตร์แล้ว เค้าก็ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี การเมือง และเศรษฐกิจ อีกด้วย (เป็น a Celebrated Policial Economist แห่งยุค) เขาจึงเอาเงินทุนมาลงทุนทำวิจัยด้านเครื่องวิเคราะห์ต่อ แต่ก็ต้องทำและแก้หลายครั้ง จนเขาเสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1871 (แล้วลูกชายเขามาสานต่อ). ช่วงก่อนตาย เขาเขียนหนังสือชื่อดัง (ดังยุคหลัง) ชื่อ Passages from the life of a Philosopher
เพราะในปีที่เขาเสียชีวิต โลกยังไม่ค่อยรู้จักเขา. เครื่องวิเคราะห์ของเขาไม่มีคนสนใจลงมือสร้างเป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งอีกประมาณ 40 ปีต่อมา หลังจากเขาตาย มีคนเอางานเขาไปเผยแพร่จนเป็นที่ชื่นชม แล้วคนยุคหลังก็นำสมองของเขา (ที่ดองเอาไว้ในแอลกอฮอล์) มาผ่าเพื่อศึกษาความสามารถในการคิดของเขา (ถูกนิยามไว้ว่าเป็น one of the most profound thinker of the century).

     ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ แบบเบจเชื่อว่า โลกเรานี้สามารถวิเคราะห์ทำนายได้ (a world where all things were dutifully quantified and could be predicted) โดยได้รับความสนับสนุนจาก Laplace ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทในวงการว่า ถ้าจิตใจมนุษย์สามารถเข้าใจพฤติกรรมของอนุภาคเล็กๆ มันจะอธิบายทุกอย่างได้ (if a mind could know everything about particle behavior, if could describe everything: nothing would be uncertain, and the future, as the past, could be present to our eyes). ปี ค.ศ. 1856, แบบเบจเสนองาน "Table of Constants of the Nature and Art" ที่อ้างว่า รวบรวมข้อเท็จจริงทุกอย่าง สำหรับอธิบายศาสตร์ทางวิทย์และศิลป์ ด้วยตัวเลข